วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

คอย


คอย
๑. ในปีนี้แทบทั้งปีที่หมู่บ้าน
ประชาชนเฝ้าสื่อสารผ่านเวหา
ความในใจส่งทูลเทวดา
เพื่อฟากฟ้าประทานฝนให้หล่นโปรย
๒. ในปีนี้เป็นปีแห่งความแล้งหนัก
สาเหตุหลักที่ชักนำความหิวโหย
เกิดความเครียดจากร้อนเร่าเข้าตีโบย
พบทุกคนร้องโอดโอยโวยทุกที
๓. ในปีนี้แห่นางแมวแล้วหลายครั้ง
จนกระทั่งแมวหน่ายหายหน้าหนี
ไม่ยอมให้จับเอาเข้าพิธี
ยังไม่มีฝนตกอกระอา
๔. ในปีนี้แห่เซียงข้องวนร้องป่าว
หลายครั้งคราวจนหมดข้องแล้วเจ้าข้า
ฝนก็ยังร่อนเร่ไม่เทมา
เทวดาจะตอบมาว่าอย่างไร
๕. ในปีนี้จุดบั้งไฟไปขอแถน
บั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสนแห่แหนให้
บั้งไฟพลุไฟพะเนียงไฟตะไล
จุดสื่อไปเพื่อขอฝนบนวิมาน
๖. ในปีนี้คนทั้งหลายได้แต่คอย
คอย คอย คอย ฝนจากฟ้า มาสมาน
แหงนคอตั้งมองเมฆฝนมาแสนนาน
หลายเดือนผ่านยังไม่มีฝนตกมา

ศักดิ์เรือง วลี /บ้านแมกไม้ ร้อยเอ็ด / ๒๕ เมษา ๕๓

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

ฝน

ฝน
๑. สงสารสรรพสิ่ง ....หวังพึ่งพิงอิงอาศัย
น้ำฟ้าน้ำฝนไป....เพื่อช่วยให้ชีพดำรง
๒. หลายปีที่ผ่านมา....บนฟากฟ้าแผลงพิษสง
หวงฝนไม่ปรนลง....มาชะโลมพื้นโลกา
๓. ปั่นป่วนจนป่วนปั่น....เกิดไหวหวั่นกันทั่วหล้า
ว้าวุ่นจนวุ่นว้า....หวาดผวาพาวุ่นวาย
๔. แต่ก่อนร่อนชะไร....ฝนไม่เคยเลยลับหาย
ถึงฤดูร่วงพร่างพราย....พรั่งพรูสายสาดกระเซ็น
๕. มีบ้างในบางห้วง....ฝนทิ้งช่วงหายลับเร้น
แม้มีความลำเค็ญ....ไม่ยากเข็ญเกินจะทน
๖. ฝนหายให้โหยหา....ธรรมดาทุกแห่งหน
ฝนมาปลื้มกมล....ด้วยฝนดลความอุดม
๗. ปีใดที่ฝนดี....สุดเปรมปรีดิ์ฝนเปรอปรน
ปีแล้งทุกข์สุดทน....ทุกผู้คนร้าวระทม
๘. ฝนมีเหมือนฝันมา....ชุบชีวาพาชื่นชม
ดินใดได้ฝนพรม....ดินดีสมพรหมประทาน
๙. เพาะปลูกไร่นาสวน....ดินดีล้วนชวนไถหว่าน
หากแม้นดินกันดาร....ดังดินดานฤาจะดี
๑๐. อิทธิพลแห่งฝนพรำ....พลังล้ำเหลือทวี
โลกยืนเพราะยังมี....เม็ดมณีพิรุณโปรย
๑๑. ปราศฝนปราศฝัน....แห้งเหือดผันพลันหิวโหย
โอดครวญล้วนโอดโอย....เสียงวายโวยรัวระงม
๑๒. ปีนี้ต่างปีโน้น....ภูเขาโล้นไม้ไม่ร่ม
เขียวไสวกลับซานซม....แปรเป็นปมปัญหาไทย
๑๓. วิงวอนอย่าถอนป่า....ปลูกฟื้นมาเป็นป่าใหม่
ฝนคอยคลอแมกไม้....โปรดอย่าให้ฝนหายเลย

ศักดิ์เรือง วลี /บ้านแมกไม้ ร้อยเอ็ด /๒๔ เมษา ๕๓

(คอยฝนมา๒ เดือนแล้ว)


วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

โลกป่วย

โลกป่วย
๑. โลกเป็นหวัดปวดหัวและตัวร้อน
ทั้งจิตหลอนสติขาดประสาทเสีย
ทั้งผอมแห้งแรงหย่อนเริ่มอ่อนเพลีย
ลมหายใจแสนละเหี่ยเสียสมดุลย์
๒. ชีพจรเต้นช้าสีหน้าเศร้า
ดูหงอยเหงาเซื่องซึมแทบลืมหมุน
เหวี่ยงเคว้งคว้างทำหันเหจนเซซุน
คงว้าวุ่นสิ้นหวังจนวังเวง
๓. เสียงหายใจฟืดฟาดหยาดเหงื่อไหล
คล้ายมีใครรุมทำร้ายหมายข่มเหง
ความดันสูงแถมมีไข้ทำให้เกร็ง
อีกมะเร็งรุมเร้าเฉาเจียนตาย
๔. มีเชื้อโรคมากล้นรุมพ่นพิษ
ฝูงปรสิตรุมทึ้งจึงเลวร้าย
ออกอาการเข้าขั้นอันตราย
ถึงไม่ตายต่อไปคงไม่ยืน
๕. มาเร็วมาพวกเราเข้ามาช่วย
เข้าร่วมด้วยช่วยโลกพ้นขมขื่น
อย่ารีรอข้ามไปหลายวันคืน
ขอให้ยื่นมือมารักษาเลย
๖. หยุดทำลาย หยุดทำร้ายโลกอีกด้วย
ปรุงให้สวยช่วยฟื้นฟูอย่าดูเฉย
ให้อิ่มเอิบอวบอ้วนอย่างที่เคย
หยุดกันเลยหยุดเผาโลกด้วยมือเรา

ศักดิ์เรือง วลี /บ้านแมกไม้ ร้อยเอ็ด /๒๒ เมษา ๕๓ Earth day 2010


วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

ประติมากรรมโหด

ประติมากรรมโหด
๑. รวมเอาธาตุสี่ปั้น.......ปนไป
ดินแช่เป็นโคลนไคล......ชุ่มน้ำ
เปลวแดดดั่งเปลวไฟ.....เผาช่วย
ลมเพิ่มโหมพัดซ้ำ......เหือดแห้งระแหง
๒. กลางวันตอกลิ่มแล้ง.....ลงลาย
คืนค่ำอบพรมพราย.....น้ำค้าง
วันเดือนช่วยเกลากลาย.....รูปร่าง
ปีผ่านคงรูปตั้ง.......เด่นล้ำเรียงสลอน
๓. เอาโหดของรุ่มร้อน.....โลมลง
เอาเปลี่ยวลมพัดหลง......แต่งแต้ม
เอาโศกกว่าใจปลง......เติมต่อ
เอาง่อยงอมแงมแง้ม.....ง่าง้างเป็นรอย
๔. เสร็จสรรพสมที่ตั้ง.....จินตนา
สลักอยู่ ณ โลกา .....ย่านนั้น
เนานานเนิ่นนักหนา.....ไม่เปลี่ยน
ยามเมื่อยลรูปปั้น.....ขื่นเข้าในทรวง

ศักดิ์เรือง วลี /บันทึก ณ ภาคอีสาน /๒๐ เมษา ๕๓


ร้อน

ร้อน
๑. รุมรุม รุ่มร้อน รอนราน
มองมาน มืดมน หม่นหมาง
กลัดกลุ้ม กราดเกรี้ยว เกรียวกลาง
ระคาง ระคน ระคาย
๒. ระทวย ระทม อมทุกข์
อดสุข อมเศร้า เช้าสาย
ชวดชม ซมซาน อันตราย
มีม่าน มากมาย มาบัง
๓. ร้อนอก ร้อนใจ ไร้จิต
ไร้ทิศ รันทด หมดหวัง
ตระหนก ตกใจ เสียจัง
คลุ้มคลั่ง คลางแคลง ไม่คลาย
๔. คนกู้ คนแก้ (ยัง)ไม่เกิด
ระเห็จ ระเหิด หดหาย
ดูใด ดูดัง ดูดาย
ไม่ตาย อยู่ไป "ไม่คือ"
๕. ร้อนโลก ร้อนคน ร้อนป่า
ร้อนหมา ร้อนแมว แล้วหรือ
ร้อนบ้าน ร้อนเมือง เลื่องลือ
ใดคือ ต้นเหตุ แห่งภัย
๖. ทั้งหมด ทั้งมวล ล้วนมี
คนนั้น คนนี้ คนไหน
ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย
ทำให้ โลกร้อน รอนลง
ศักดิ์เรือง วลี /บ้านแมกไม้ ร้อยเอ็ด /๑๙ เมษา ๕๓
(ช่วงสัปดาห์ที่อุณหภูมิสูงถึง ๔๒ องศา ซี.)

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

ขัว

....... ที่บ้านเกิดของฉัน...ซึ่งเป็นบ้านนอก
มีลำห้วยมากมาย
ชาวบ้านจะตัดต้นไม้หรือลำไม้ไผ่
เอามาวางพาดข้ามลำห้วยเพื่อไปมาหาสู่กัน
เขาเรียกว่า "ขัว" หรือสะพาน นั่นเอง
.........บ่อยครั้งที่ขัวหักลง
เขาก็จะหาต้นไม้หรือลำไม้ไผ่ต้นใหม่
มาวางพาดทำขัวใหม่เสมอๆ
เขาจะไม่ปล่อยให้มันหักอยู่อย่างนั้น
ไม่เช่นนั้นผู้คนจะไปมาหาสู่กันได้อย่างไร
...........................................................................
..........ในสถาณการณ์บ้านเมืองในยามนี้
(ยามที่ผ่านการเจรจากันมาแล้วสองหน)
ฉันอยากเห็น "ขัว"
จากไม้ต้นใหม่
ศักดิ์เรือง วลี /บ้านแมกไม้ ร้อยเอ็ด / ๕ เมษา ๕๓